วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2553

๑๙ กันยา ปฎิวัติเสียของ !?


การปฎิวัติ รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อคืนวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ โดยคณะทหารที่ใช้ชื่อว่า "คณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" (คปค.) นำโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ผ่านมาแล้ว ๔ ปี ด้วยเหตุผลสำคัญในการขจัดข้อขัดแย้งของผู้คนในสังคม กระนั้น สังคมไทยก็ยังตกอยู่ในหล่มโคลนแห่งความขัดแย้งไม่สิ้นสุด

ซ้ำร้ายดูจะหนักหน่วงและส่งผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น คล้ายการรัฐประหารครั้งสุดท้ายนั้นเพียงโยนหินลงไปในคูที่มีจอกแหนหนาแน่น แหนกระจายตัวออก แต่ไม่นานจากนั้น แผ่นแหนหนาทึบก็กลับมาครอบครองคูน้ำเหมือนเดิม

คณะรัฐประหาร ให้เหตุผลสำคัญในการยึดอำนาจ ผ่านประกาศฉบับแรกว่า

"การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงาน องค์กรอิสระ ถูกครอบงำทางการเมือง ไม่สามารถสนองตอบเจตนารมณ์ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"

ในขณะเดียวกัน คณะรัฐประหารได้ยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาเข้ามาเป็นผู้บริหารประเทศเสียเอง แต่จะได้คืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด คณะรัฐประหารหลังส่งมอบอำนาจให้รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ถอยออกไปจากการเมือง แต่ขยะความขัดแย้งในสังคมยังไม่หมดไป

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหาร ที่พรรคพลังประชาชน อันถือว่ายังเป็นเสมือนตัวแทนอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับมามีอำนาจ และนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงโค่นล้มระบอบทักษิณ จนกระทั่งทหารลากรถถัง รถฮัมวี่ รถยีเอ็มซี มายึดอำนาจรัฐ ต้องกลับมามีบทบาทนำผู้คนจำนวนมากเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลรักษาการ ที่พวกเขาเชื่อว่ายังเป็นตัวแทนอำนาจของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อีกครั้ง สะท้อนบทเรียนสำคัญประการหนึ่งว่า การใช้กลไกการรัฐประหารเข้ามาจัดการจัดระเบียบสังคมไทยนั้น นับเป็นความล้าหลัง พ้นสมัยไปแล้วสำหรับประเทศไทย และนำมาสู่ตรรกะที่ทุกฝ่ายน่าจะยอมรับและเข้าใจได้ นั่นคือปัญหาการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง

ปรากฎการณ์การระดมพลมากดดันรัฐบาลของคนสื้อแดง จนนำมาสู่การสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนจำนวนมาก ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่บอกความล้มเหลวของการปฎิวัติ

แน่นอน อย่างน้อย ๒ ปีแห่งการรัฐประหาร ก็ไม่ได้สูญเปล่าไปเสียทีเดียว เรารู้ว่าการรัฐประหารมิใช่คำตอบสุดท้ายของสังคมไทยอีก เรารู้ว่าการเคลื่อนไหวกดดันผู้กุมอำนาจรัฐโดยกลุ่มคนที่เรียกว่า การเมืองภาคประชาชนโดยที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ เข้าใจ หรือมีฉันทามติ ให้ไปดำเนินการนั้น รังก็แต่จะตอกลิ่มความขัดแย้งในสังคมไทยให้ร้าวลึกขึ้นอีก

เมื่อต่างคนต่างเดิน ต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ ต่างก็ไม่เปิดใจยอมรับให้กัน และต่างก็ตั้งเวทีปราศรัยด่าทอกัน จนสุดท้าย กลุ่มต่อต้านประกาศท่าทีว่า จะไปรวมตัวชุมนุมกันหน้าบ้านพักแกนนำพันธมิตรฯ

ความรุนแรงขนาดใหญ่ โศกนาฎกรรมกลางเมืองที่ต้องหลั่งเลือดผู้คนจำนวนมาก อันเป็นรายจ่ายของความขัดแย้งที่ผ่านมา ยังไม่ถึงบทสุดท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น