วันอังคารที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ข่าวคราวทางการเมืองกันซักนิด


คมชัดลึก : เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาไม่ใช่เพราะว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้วมีเรื่องราวที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ


แต่เพราะว่าก่อนงานนี้ก็มีเรื่องราวเกี่ยวเนื่องกับแนวนโยบายของ รมช.ศึกษาธิการ เรื่องของการให้ผู้บริหารการศึกษาสอดส่องดูแลเรื่องการแสดงความคิดเห็นของนักศึกษา โดยเฉพาะในเรื่องของละครนักศึกษาต่างๆ (ซึ่งผมก็ได้ให้ความเห็นไปในสื่อบางฉบับไปแล้วในช่วงนั้น) ก็เลยต่อเนื่องมายังบทความนี้

โดยสรุปก็คือ ผมคิดว่า "การเมืองเรื่องความเกร็ง" แบบนี้แหละครับที่จะนำไปสู่ความถดถอยของความชอบธรรมของรัฐบาลปัจจุบัน ทั้งที่ตัวนายกรัฐมนตรีเองอาจจะไม่ได้คิดมากเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและตัวของเขา เพราะผมเชื่อว่าคนระดับนายกฯ เองนั้นเชื่อมั่นในคารม และความรู้ของตัวเขาเอง ในการปะทะคารมกับคนทุกคนมาโดยตลอด

มิหนำซ้ำ การปล่อยให้มีการแสดงความคิดเห็นต่างๆ โดยเฉพาะในหมู่นักศึกษานั้น จะยิ่งทำให้นายกฯ สร้างภาพกับต่างประเทศได้ และสามารถเพิ่มอำนาจต่อรองกับหน่วยงานด้านความมั่นคงได้มากขึ้น ซึ่งวิธีการบริหารงานบนโต๊ะประชุมนี้เป็นเกมที่นายกรัฐมนตรีนั้นถนัดในการ "กระชับอำนาจ" มาโดยตลอด

คนรอบข้างนายกฯ นั่นแหละครับ กลับสร้างปัญหาให้แก่นายกฯ โดยไม่รู้ตัว และทำให้เรื่องที่เล็กๆ กลายเป็นเรื่องที่สะสมกันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในกรณีการกระชับพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ทั้งที่จุดมุ่งหมายหลักของการคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ในเขต กทม.นั้น น่าจะเกี่ยวโยงกับเรื่องของการป้องกันหรือลดแรงจูงใจในการก่อให้เกิดการชุมนุมขนาดใหญ่

เรื่องไม่น่าเชื่อก็คือ การเคลื่อนไหวของนักศึกษา และชนชั้นกลางในเมืองกลุ่มที่ไม่เอากับรัฐบาลนั้นกลับมีความแหลมคมขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในเรื่องของกลุ่มแกนนอนวันอาทิตย์ และกลุ่มนักศึกษาต่างๆ

การต่อสู้แบบนี้ในทางหนึ่งอาจจะถูกวิจารณ์ว่าไม่มีขนาดใหญ่พอ แต่ในอีกด้านหนึ่ง การเมืองแบบนี้กลับทำให้ภาพของการต่อต้านระบอบกระชับพื้นที่ที่ดำรงอยู่นั้นถูกท้าทายในกรอบของสันติวิธีมากขึ้นเรื่อยๆ และทำให้สื่อกระแสหลักนั้นสามารถที่จะทำงานกับการเคลื่อนไหวแบบนี้ได้อย่าง "มืออาชีพ" ได้มากขึ้น

ในแง่ที่ว่า แม้ทางหนึ่งสื่อมวลชนก็อาจจะมีจุดยืนและทัศนะของตัวเอง แต่ในอีกทางหนึ่งสื่อมวลชนก็พยายามที่จะรักษาไว้ซึ่งความเป็นมืออาชีพเช่นกัน เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย มากกว่าถูกวิจารณ์ว่าเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งซึ่งจะเป็นการลดความน่าเชื่อถือของสื่อลงในภาพรวม

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวทางการเมืองของนักศึกษาซึ่งกลับมามีบทบาทสำคัญมากขึ้นในช่วงนี้ก็ควรจะต้องพิจารณาถึงเป้าหมายของการเคลื่อนไหวด้วย แม้ว่าในเชิงวิธีการแล้วการเคลื่อนไหวนั้นจะเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น และมีพื้นที่ข่าวมากขึ้นแล้วก็ตาม

นั่นก็คืออาจจะต้องแยกการเคลื่อนไหวออกเป็นสองส่วน ในส่วนแรกก็คือการคืนพื้นที่ประชาธิปไตยให้แก่สังคม โดยตรวจสอบตัวแสดงทางการเมืองทุกฝ่าย และทำให้กฎ กติกา ประชาธิปไตยได้รับการปฏิบัติตาม อาทิการเร่งรัดการค้นหาความจริงในเรื่องของการสลายการชุมนุม/กระชับพื้นที่ และทำให้หลักนิติธรรมสามารถทำงานได้กับทุกกลุ่ม ซึ่งการเคลื่อนไหวแบบนี้จะทำให้สังคมเริ่มหันมายอมรับและอยู่ด้วยกันมากขึ้น เพราะกติกาประชาธิปไตย หลักนิติธรรม และสันติวิธีนั้น เป็นกติกาที่ทุกฝ่ายพบว่ามีต้นทุนสูงมากที่จะละเมิด และมักถูกวิจารณ์ในกรณีที่อธิบายการละเมิดหลักการเหล่านั้นด้วยคำอธิบายโง่ๆ เพื่อการแถไปเรื่อยๆ

ส่วนการเคลื่อนไหวในส่วนที่สอง ย่อมเป็นไปได้ที่นักศึกษานั้นย่อมมีจุดยืนและทัศนะทางการเมืองของตนเอง และย่อมเป็นไปได้ที่เอกภาพในการแสดงความคิดเห็นในส่วนนี้นั้นแตกต่างกันไป นักศึกษาก็ย่อมมีสีของตนเองได้

แต่กระนั้นก็ตาม ผมก็ยังคิดว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษานั้นอาจจะเป็นพื้นที่สำคัญที่จะทำให้สังคมนั้นเริ่มตั้งสติกันมากขึ้น อย่างน้อยในระดับของการเริ่มยอมรับกฎกติกาตรงกัน ในความหมายของการตรวจสอบและติดตามผลกฎกติกาที่มีอยู่ รวมทั้งตัวผู้ที่ควบคุมกำหนดกฎกติกาด้วย และทำให้นักศึกษาได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย เพราะเขาเริ่มต่อสู้ให้ทุกฝ่ายยอมรับกันเองมากขึ้นเพราะทุกฝ่ายมีที่ยืนมากขึ้น

ส่วนในระดับของการนำเสนอแต่จุดยืนของตัวเองนั้นถ้าอยู่ในแนวทางสันติวิธี ก็น่าจะเป็นเรื่องที่พวกเขาย่อมต้องรับผิดชอบต่อความน่าเชื่อถือและวุฒิภาวะของเขาเองครับ

ที่มา

http://www.komchadluek.net/detail/20100824/70904/นักศึกษากับการเมืองยุคกระชับพื้นที่.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น